Last updated: 28 พ.ย. 2560 | 5569 จำนวนผู้เข้าชม |
สังเกตอาการปวดกันสักนิด
ต้องลองสังเกตว่าตัวเราเองปวดแบบไหน เช่น มีนมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอและที่บ่าร่วมด้วย แต่ยังหันคอไปมาได้ตามปกติ แม้จะรู้สึกปวด แต่ก็ไม่เจ็บมาก
สาเหตุการปวดคอที่พบบ่อยเกิดจาก
-อิริยาบถหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแหงนหน้าหรือก้มหน้าทั้งวัน อย่างผู้ทำงานเย็บจักร ซักผ้า เขียนหรืออ่านหนังสือ ตลอดจนครูที่ต้องแหงนหน้าเขียนกระดานบ่อยๆ หรือนักบัญชีที่ต้องก้มคอนานๆ แม้แต่การนอนหนุนหมอนที่สูงหรือแข็งเกินไปก็ทำให้เกิดอาการปวดคอได้
-สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน หรืองานในชีวิตประจำวันไม่เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงหรือต่ำเกินไป
-ความเครียดของจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อคอทำให้มีอาการปวดต้นคอ ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยภายหลังการทำงานหรือภายหลังมีปัญหาขัดแย้ง
-อุบัติเหตุ ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนไหวของคอมากหรือรวดเร็วกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นฉีกขาดหรือกระดูกเคลื่อน
-กระดูกคอเสื่อม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในคนสูงอายุบางคนอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ขณะที่บางคนอาจมีอาการมากจนต้องได้รับการรักษา
-ข้ออักเสบ เช่น ในผู้ป่วยรูมาทอยด์
เมื่อเราสำรวจพบสาเหตุของอาการปวดคอกันแล้ว นอกจากจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ วิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยคอในรายที่มีอาการไม่มากและไม่มีอาการบวมแดงก็คือ การนวดกดจุด
กดจุดเยียวยาป่วย
การกดจุดตามขั้นตอนต่อไปนี้ต้องขอความร่วมมือจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด อาจชวนกันมาทำเป็นกิจกรรมยามว่างในครอบครัวของคุณก็ได้ โดยเริ่มจากให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้ ตั่ง หรือพื้นที่ปูเบาะ (ถ้าผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ให้ข้ามขั้นตอนที่ 1 ไป) พร้อมกันแล้วก็ลงมือได้เลยค่ะ
1.ให้ผู้นวดยืนด้านหลังผู้ป่วย แล้วโน้มตัวลงมาตรงๆ ใช้ฝ่ามือกดที่ไหล่ เริ่มออกแรงเบาๆ ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ โน้มต่ำลงเพิ่มแรงมากขึ้น
2.วางฝ่ามือข้างหนึ่งประคองหน้าผากไว้ อีกมือหนึ่งบีบกล้ามเนื้อหลังคอ โดยค่อยๆบีบไล่จากท้ายทอยลงมา
3.ใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปอย่างหนักตรงแอ่งระหว่างกล้ามเนื้อคอและฐานกะโหลกศีรษะ กดไล่ลงมาด้านล่างช้าๆ แล้วจึงเปลี่ยนมือและกดจุดแบบเดิมที่คออีกด้านหนึ่ง
4.สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยบริเวณไหล่หรือบ่าร่วมด้วย ให้ผู้นวดถอยหลังออกมานิดหนึ่ง เหยียดแขน วางมือลงบนไหล่ทั้งสองข้าง กดช้าๆซ้ำๆ กันหลายครั้งที่บริเวณกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลังทั้งสองด้านของกระดูกหัวไหล่ ออกแรงกดเท่าที่ผู้ป่วยทนได้
5.จบการนวดกดจุดด้วยการบีบนวดและลูบมือจากไหล่ลงมาถึงข้อศอกซ้ำๆเร็วๆ เพื่อให้คลายจากการตึงเครียด
ควรไปพบแพทย์เมื่อ
-ถ้ารักษาตัวเองแล้วไม่ได้ผล และปวดนานเกิน 3 วัน
-มีอาการปวดมากจนยกแขนขึ้นเหนือศีรษะไม่ได้
-ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม หรือมีอาการกลืนลำบากร่วมด้วย
-ปวดคอหรือไหล่หลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มต้องพบแพทย์ทันที
-กรณีที่ปวดคอและมีอาการคอเคล็ด รวมถึงปวดศีรษะ มีไข้สูง ตาไม่สู้แสง และมีผื่นแดง ต้องพบแพทย์โดยด่วน เพราะเหล่านี้เป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 219