Last updated: 15 พ.ค. 2561 | 775 จำนวนผู้เข้าชม |
ข้อเท้าพลิก หรือแพลง
เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่เราทำกิจกรรมต่างๆ พบมากในหมู่นักกีฬา หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการข้อเท้าพลิกได้ทั้งสิ้น สาเหตุที่เท้าพลิก หรือแพลงนั้นเนื่องจากเอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าฉีกขาด อาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งเส้น ทำให้ข้อเท้าไม่มั่นคง
ผู้ป่วยจะมีอาการบวม และปวดบริเวณข้อเท้า เป็นรอยเขียวๆ รอบข้อเท้า เนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือด ควรประคบน้ำแข็งบริเวณข้อเท้าทันทีที่ได้รับอุบัติเหตุ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ อย่านวด หรือรักษาด้วยวิธีการอื่นหากยังไม่ได้รับการวินิจฉัย เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด อาจมีการตรวจทางรังสีเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกหัก อาการนี้ใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ภาวะบวมจะหายก่อน แพทย์จะให้พักเท้าให้มากที่สุด โดยอาจจะใส่เฝือก ใช้ผ้าพันเพื่อลดอาการบวม หรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงน้ำหนัก
เอ็นร้อยหวายอักเสบ
มักจะเกิดกับกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อน่องมาก เช่น บาสเกตบอล กระโดดสูง จะมีอาการปวดบริเวณเอ็นร้อยหวาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่เอ็นร้อยหวายระหว่างการออกกำลังกาย และจะปวดมากขึ้นเมื่อหยุดออกกำลังกาย เมื่อกดบริเวณเอ็นร้อยหวายจะเกิดอาการปวด หรือเมื่อตรวจรองเท้าจะพบรอยสึกที่ผิดปกติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ หยุดออกกำลังโดยทันที ช่วงที่ปวดใหม่ๆ ให้ประคบด้วยน้ำแข็งประมาณ 20 นาทีทุก 4 ชั่วโมง ใส่รองเท้าที่หนุนส้นให้สูงขึ้นเพื่อลดแรงกดดันที่เอ็นร้อยหวาย ใช้ผ้าพัน ให้ยกเท้าสูง อย่าใส่รองเท้าที่มีพื้นราบ และไม่ควรเดินเท้าเปล่า
เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
เนื่องจากการออกกำลังที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฝ่าเท้าในตอนเช้า เริ่มต้นด้วยอาการปวดฝ่าเท้าเล็กน้อย แรกๆ จะปวดหลังออกกำลังกาย ต่อมาจะปวดเวลาเดิน หลังจากตื่นนอน เมื่อเดินไปสักพักอาการปวดจะดีขึ้น ในการตรวจร่างกายพบว่าถ้ากดบริเวณกระดูกส้นเท้าจะทำให้เกิดอาการปวด หากไม่รักษาอาจจะมีผลกับข้อเท้า เข่า หรือหลัง เนื่องจากทำให้การเดินผิดปกติ เมื่อมีอาการปวดให้พักการใช้งานหนัก ลดน้ำหนักจนอาการปวดดีขึ้น ประคบน้ำแข็ง ครั้งละ 20 นาทีวันละ 3 ครั้ง เพื่อลดอาการอักเสบ ใส่รองเท้าที่มีแผ่นรองรับการกระแทก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นใน 2-3 เดือน
ป้องกันการได้รับบาดเจ็บบริเวณเท้า และข้อเท้า
พยายามอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายทุกครั้ง สังเกตร่างกายตนเองหากมีอาการปวดข้อเท้า หรือปวดฝ่าเท้าให้หยุดวิ่ง จัดหาเครื่องป้องกันมาใส่ให้เหมาะสมกับกีฬา เลือกรองเท้า และถุงเท้าอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามนอกจากเหนือจากสาเหตุดังกล่าวมาข้างต้น อาการปวดข้อเท้าอาจเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมากๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของกระดูก โดยเฉพาะคนที่ขาดแคลเซียมมาตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น เมื่อแก่ตัวจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกได้ง่าย
17 ม.ค. 2567